ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการตรวจลงตราประทับ

                อย่างที่ทราบกันดีว่าการจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยนั้นต้องมีเอกสาร ที่ออกให้แก่บุคคลเพื่อแสดงว่าได้ให้อนุญาตบุคคลนั้นเดินทางเข้าประเทศผู้ออกลงตรา ภายในระยะเวลาพำนักหรือตามจุดประสงค์ของชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามา บุคคลเหล่านั้นจะต้องยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา แสดงต่อเจ้าหน้าที่ขณะเดินทางเข้ามา ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการประทับตราไว้ในหนังสือเดินทาง มีหลายรูปแบบ เช่น แผ่นสติ๊กเกอร์ ตราประทับ หรือเอกสาร หรือเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงว่าบุคคลหนึ่งได้รับอนุญาตให้เข้า หรือ ออกจากพื้นที่ของประเทศผู้ออกลงตรา เรามาทำความเข้าใจถึงการตรวจลงตราสำหรับประเทศไทยนะคะ เริ่มจาก…

ประเภทของการตรวจลงตราประทับมีดังนี้

1. การตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)

                เป็นการลงตราให้ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทย เพื่อ 1. เดินทางผ่าน 2.เล่นกีฬา และ 3.เป็นคนคุมพาหนะหรือคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ในไทย โดยอายุวีซ่า 3 เดือน ระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 30 วัน โดยต้องมีเงินหรือสิ่งใดที่แลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือมีมูลค่าเท่ากับเงินบาทไทยไม่น้อยกว่า 10,000 บาท หรือมาเป็นครอบครัว โดยครอบครัวละไม่น้อยกว่า 20,000 บาทไทย

2. การตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa)

                การตรวจลงตราประเภทนี้ออกให้แก่ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว และวีซ่าต้องมีอายุ 3 หรือ 6 เดือน ระยะเวลาพำนักในไทย ครั้งละ 60 วัน โดยต้องมีเงินหรือสิ่งใดที่แลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือมีมูลค่าเท่ากับเงินบาทไทยไม่น้อยกว่า 20,000 บาท หรือมาเป็นครอบครัว โดยครอบครัวละไม่น้อยกว่า 40,000 บาทไทย

3. การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)

                การตรวจลงตราประเภทนี้ออกให้แก่ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อ 1.ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ 2.ติดต่อหรือประกอบธุรกิจ 3.ลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 4.ลงทุนหรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 5.การศึกษา ดูงาน ฝึกงาน อบรมต่างๆ 6.ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน 7.เผยแผ่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ 8.การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้า หรือสถาบันการศึกษาในไทย 9.ปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ 10.อื่นๆ ได้แก่

– เข้ามาบั้นปลายชีวิต

– เข้ามาในฐานะคู่ความหรือพยานคดี

– การปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในครอบครัวชาวต่างชาติ

– การปฏิบัติหน้าที่คนรับใช้ส่วนตัวหรือเดินทางจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานตามปกติ

– การให้ความอุปการะแก่หรือรับความอุปการะจากบุคคลสัญชาติไทยโดยเป็น บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร

– ปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครให้แก่องค์กรการกุศล มูลนิธิ สมาคม

– เป็นผู้ที่เคยมีสัญชาติมาเพื่อเยี่ยมญาติ 

– เข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาล

                อายุวีซ่า 3 เดือน สำหรับเข้าไทยได้ครั้งเดียว หรือ 1 ปี สำหรับการเดินทางเข้าไทยหลายครั้ง ระยะเวลาพำนักในไทย ไม่เกินครั้งละ 90 วัน โดยต้องมีเงินหรือสิ่งใดที่แลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือมีมูลค่าเท่ากับเงินบาทไทยไม่น้อยกว่า 20,000 บาท หรือมาเป็นครอบครัว โดยครอบครัวละไม่น้อยกว่า 40,000 บาทไทย

4. การตรวจลงตราประเภททูต (Diplomatic Visa)

                การตรวจลงตราประเภทนี้เฉพาะขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ทางการฑูตหรือกงสุล หรือหน้าที่ราชการ จะต้องถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตเท่านั้น

                แสดงหนังสือนำจากกระทรวงต่างประเทศ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่สังกัดอยู่โดยหนังสือต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทาง และสุดท้ายคือระยะเวลาพำนักในไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

5. การตรวจลงตราประเภทราชการ (Official Visa)
                การตรวจลงตราประเภทนี้เฉพาะขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น

                แสดงหนังสือนำจากกระทรวงต่างประเทศ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่สังกัดอยู่โดยหนังสือต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทาง และสุดท้ายคือระยะเวลาพำนักในไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

6. การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรี(Courtesy Visa)

การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรีเฉพาะขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อ
1. เพื่อปฏิบัติหน้าที่การทูต กงสุล หรือราชการ

2. เข้ามาในประเทศไทยในฐานะเป็นพระราชอาคันตุกะ ราชอาคันตุกะ แขกของรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ

                อายุวีซ่า 3 หรือ 6 เดือน เข้ามาประเทศไทยได้หลายครั้ง ระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน

ข้อควรรู้ สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่า

ชาวต่างชาติที่ต้องการจะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่ชาวต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก

ชาวต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าไทยโดยไม่มีวีซ่า 2 กลุ่มดังนี้
      กลุ่มแรกคือ ประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน
      กลุ่มที่สองคือ ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรากับประเทศไทย

                คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองจะต้องแสดง “เอกสารระหว่างประเทศรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง” ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้

                ในการขอวีซ่านั้น ชาวต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ การอนุมัติวีซ่าอยู่ในดุลพินิจของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และในการตรวจลงตราให้แก่ชาวต่างชาติบางสัญชาติ ได้มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นพิเศษ

                ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ดังนั้น ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภทที่ถูกต้องคือ Non-Immigrant Visa “B” เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้

                สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้วีซ่าแก่ชาวต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้น ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่าแล้วบางรายอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติการณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร

                ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาในไทยและเข้ารับการตรวจลงตรากับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ต้องยื่นคำร้องตามรายละเอียดข้างต้น แล้วเดินทางผ่านช่องทางที่กำหนด ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างสบายใจ และพร้อมจะทำกิจกรรม หรือทำงาน หรือตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่กังวล

แหล่งที่มาข้อมูล กระทรวงต่างประเทศ